เรื่องนี้สำคัญ ถามง่ายๆ แค่นี้ก็ตอบได้ยากแล้ว ตามปกติเราคิดถึงดินถมมากกว่าอย่างอื่น เพราะเราอยู่บนผืนดิน สิ่งที่ใช้ถมที่ก็ควรเป็นดินอย่างน้อยก็ยังเกี่ยวข้องกับงานปลูกต้นหมากต้นไม้ ปูหญ้า
แต่ถ้าใช้ทรายก็เหมาะกับที่ทั้งตื้นและลึก หากเป็นที่ลึกและเป็นดินเลนการใช้ทรายถมจะมีความแน่นตัวกว่าดิน รับน้ำหนักได้
การใช้ทรายถม มักจะมีความแน่นตัว และมีการยุบตัวน้อยมาก เหมาะสำหรับสถานที่ก่อสร้างที่เร่งรีบ หรือเป็นพื้นที่จะต้องรับน้ำหนักมากๆ เป็นลานจอดรถ โกดัง คลังสินค้า หรือพื้นที่จะต้องปูวัสดุปูพื้นอย่างลำลองและรวดเร็ว เช่น ลานทางเข้า ลานโล่งในสวนอาหาร ทรายที่ใช้ควรเป็นทรายขี้เป็ด คือทรายก้นแม่น้ำเชิงเลน สำหรับในทำเลหรือภาคอื่นๆที่เป็นทรายบ่อตามที่ราบเชิงเขาใดๆ ก็ยินยอมให้ใช้ได้ เพราะหาได้ง่ายและสะดวก
หากใช้ดินถม ตามปกติดินถมใช้ได้กับทุกสภาพพื้นที่ แม้กระทั่งที่ลุ่มดินเลน ดินถมมักจะแยกเป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือ ดินถมทั่วไป มักเป็นดินในชั้นล่างๆ ที่ขุดขึ้นมา ดินพวกนี้อาจเป็นดินโคลน และมีอาหารอยู่น้อย อีกชนิดหนึ่งคือ หน้าดิน มักได้จากบ่อดินที่เปิดใหม่ ดินผิวหน้าที่ขุดทีแรก จะเป็นดินดี มีอาหารอยู่ครบถ้วน มักใช้สำหรับถมทับหน้าในการปูหญ้าจัดสวน ข้อเสียของหน้าดินก็คือ อาจมีวัชพืชปะปนมาด้วย โดยเฉพาะ “แห้วหมู” นั้น เป็นตัวการสำคัญในการทำลายพื้นหญ้า แต่ถ้าเป็นดินระดับลึก จะไม่มีวัชพืชปนมาด้วย แต่สภาพดินเองก็ไม่เหมาะแก่พืช
หลายครั้งเราอาจถมทั้งดินและทรายด้วยกัน ในพื้นที่ที่ลึกและเป็นดินเลนหรือดินอ่อน เพื่อให้ทรายแทรกตัวแน่นเป็นฐานรองรับ ส่วนตอนบนก็ใช้ดินถม
ควรถมสูงเท่าใดดี
เรื่องนี้คงหมายถึงความสูงที่พ้นจากระดับรองข้างหรือระดับถนนมาแล้วก็คงสรุปว่าก็อยู่ที่ความต้องการ หรือเป็นไปตามแบบบ้านในการกำนดความสูงของตัวบ้าน โดยยังขึ้นอยู่กับแนวโน้มการยกถนนสาธารณะในอนาคต มีข้อแนะนำว่า ไม่ควรถมที่สูงกว่าถนนภายนอกมากนัก เพราะจะเกิดปัญหาตอนขับรถเข้าไปในที่ การถมที่ด้วยดินต้องเผื่อการยุบตัวของดินด้วย โดยเฉลี่ยแล้ว ในทางปฏิบัติควรเผื่อความสูงเอาไว้หนึ่งในสี่หรือหนึ่งในห้าของขนาดความลึก เช่น ถมดินลึก 1 เมตร ควรเผื่อการยุบตัวเอาไว้อีก 20-25 ซม.
ในกรณีที่เป็นทรายถม อาจจะเผื่อเอาไว้เพียง 10 ซม. ในกรณีดังกล่าว และหลังจากถมดินแล้ว ควรจะมีการบดอัดด้วย ตามปกติรถบรรทุกที่บรรทุกดินวิ่งเข้าออกก็จะช่วย “ย่ำ” ดินให้แน่นไปในตัวด้วย
เทคนิคการถมที่
จริงแล้วการพิจารณาถึงสภาพพื้นที่นั้นๆ ก่อนการถมก็เป็นสิ่งที่ดี เช่น ที่เป็นดินเลนการใช้ทรายถมก่อนจะดีกว่า แล้วตามด้วยดินหรือทรายทั้งหมดก็ได้ ในพื้นที่ที่หาดินลูกรังได้ง่ายกว่าก็เหมาะที่จะใช้ลูกรัง เพราะดินลูกรังจะมีความแน่นตัวและแข็งจับตัวแน่นกว่าทราย จากนั้นสามารถใช้ทรายหรือดินถมทับ
การถมที่มักจะถมจากด้านในออกมา เพื่อให้ได้ขอบเขตของพื้นที่ แล้ว ถมไล่ออกมาด้านหน้าจนเสร็จ โดยจะต้องถมที่นำเป็นทางเข้าไปก่อน จากตอนหน้าไปตอนหลัง แล้วจึงถมไล่ออกมา
ในกรณีที่ด้านข้างที่ดินเป็นที่โล่งมักจะต้องถมให้มีความลาดเอียง เพื่อกระจายน้ำหนักไม่ให้ดินหรือทรายไหลลงไป จากนั้นอาจจะทำกำแพงกันดินแล้วถมต่อให้เต็ม การทำกำแพงกันดินหรือรั้วเอาไว้ก่อนจะไม่เหมาะ เพราะขณะที่รถบรรทุกทิ้งดินและย่ำดินถมนั้นเข้ามา จะบดดินให้ทะลักอัดกับกำแพงกันดินหรือรั้วนั้นทำให้เสียหายได้
ปัญหาที่พบบ่อยมากก็คือ คำถามที่ว่า จะต้องถมที่ก่อนปลูกอาคารนานเท่าใด ถมที่แล้วปลูกบ้านเลยได้ไหม
สำหรับการปลูกบ้าน ปลูกอาคารตามสภาพปกติคือปลูกบ้านบนผืนดินราบๆ นั้น การถมที่ก่อน (ถ้าต้องถม) ย่อมเป็นสิ่งดี เพราะทำให้ดินมีโอกาสทรุดตัว เนื้อดินมีโอกาสแตกยุ่ยอัดแน่นกันได้ และถือเป็นการปูพื้นก่อนการปลูกบ้าน ถ้ามีเวลาพอควรถมที่ทิ้งเอาไว้ก่อนนานๆหลายเดือนเป็นปียิ่งดี โดยเฉพาะดินนั้น จะทำให้ดินมีโอกาสยุบตัวและแตกตัวอัดกันแน่น ถ้าถมด้วยทรายอาจไม่จำเป็นต้องรอเวลานานนัก
หากไม่มีเวลา หลังจากถมที่แล้วก็สามารถปลูกบ้านได้เลย เพราะตัวบ้าน ตัวอาคารไม่ได้อยู่บนดิน แต่อยู่บนตอม่อและเสาเข็มที่ยันอยู่ในชั้นดินเดิม ตามปกติรถบรรทุกที่ถมดินเข้ามาจะช่วยอัดดินไปในตัวเช่นเดียวกับการใช้รถไถนาหรือรถตีนตะขาบเข้ามาเกลี่ยดิน ก็จะช่วยตีและอัดดินให้แน่นได้ และหลังจากปลูกบ้านหรืออาคารเสร็จภายใน 6-8 เดือนเป็นอย่างน้อยนั้น โอกาสที่ดินจะยุบตัวก็จะมีอีก
ลักษณะตัวบ้านอีกประเภทหนึ่งที่มีผลต่อการถมดินก็คือ การปลูกบ้านบนเนิน ในที่ดินแปลงหนึ่งๆ นั้น อาจจะยกตัวบ้านสูงขึ้นทำเนินโดยรอบ ปัญหาที่ถามกันก็คือว่า จะถมดินเป็นเนินเสียก่อนแล้วปลูกบ้าน หรือปลูกบ้านก่อนแล้วถมดินเป็นเนินโดยรอบ สามารถทำได้ทั้งสองประการ แต่ประการหลังดูจะประหยัดกว่า เพราะถมเพียงโดยรอบอาคารเท่านั้น แล้วก้ไม่มีข้อเสียใดๆกับตัวบ้านด้วย
การถมดิน ควรถมในช่วงหน้าแล้ง เพราะมีข้อดี 2 ประการ คือ
1. สามารถหาและขนส่งดินถมได้ง่าย เนื่องจากบ่อดิน(บริเวณที่ไปเอาดิน)จะแห้ง รถบรรทุกเข้าไปได้ทำให้การขนส่งดินได้ปริมาณมากและเป็นไปตามเวลา ผิดกับหน้าฝน ต้องรอให้ฝนหยุดตก 2-3 วัน รถขนดินจึงบรรทุกดินมาให้ได้
2. ในหน้าฝนจะได้ดินน้อย เพราะดินจะอุ้มน้ำ ทำให้มีน้ำหนักมาก รถบรรทุกที่ขนดินนั้นถูกจำกัดด้วยน้ำหนักบรรทุกมีใช้ปริมาณบรรทุก รถดินที่ต้องผ่านตาชั่งของกรมทางหลวงจะต้องมีความเคร่งครัดต่อน้ำหนักบรรทุกที่ทางการกำหนดไว้ รถจะต้องบรรทุกมากเที่ยวขึ้นในปริมาณดินที่เท่ากัน
อย่างไรก็ตาม กรณีนี้อาจจะไม่เคร่งครัดนักในทางปฏิบัติ ปัญหาอีกประการหนึ่งที่พบก็คือ เราจะซื้อดินถมในลักษณะใดดี จึงจะประหยัดค่าใช้จ่าย หรือเหมาะสมกับกระบวนการนี้ ขอเรียนว่า เรื่องนี้คงไม่มีข้อดีเสียแตกต่างกันเท่าใดนัก ระหว่างซื้อเป็นคันๆ ถมจนเต็ม และจ้างเหมาเบ็ดเสร็จจนเต็ม การซื้อเป็นคันถมจนกว่าจะเต็มก็ดูยุติธรรมดี แต่อาจทำให้เราไม่สะดวกใจนัก เพราะไม่ทราบว่าจะต้องใช้งบประมาณเท่าใด การคิดปริมาณดินหรือทรายถมที่นั้นก็คิดจากพื้นที่ที่ต้องการถม คูณกับความลึกที่ต้องการถม ก็จะได้ปริมาณดินหรือทรายที่ต้องใช้ มักคิดเป็นลูกบาศก์เมตร รถบรรทุกดินหากเป็นหกล้อจะบรรทุกได้ประมาณ 5 ลูกบาศก์เมตร หากเป็นสิบล้อจะบรรทุกได้ประมาณ 10 ลูกบาศก์เมตร เราก็สามารถหาจำนวนดินถมเป็นคันรถได้ แต่ในทางปฏิบัติอาจจะใช้ดินมากกว่าที่คำนวณได้ เพราะดินถูกบดอัดไปขณะรถบรรทุกเข้าไป พื้นที่ดินถมอาจจะมีความสูงต่ำไม่เท่ากัน ในทำนองเดียวกัน หากจ้างเหมาเบ็ดเสร็จ ผู้รับเหมาก็จะคิดคำนวณแบบเดียวกันกับข้างต้น และเป็นธรรมดาที่เขาจะต้องเผื่อค่าที่ดินที่จะต้องเพิ่มเติมเอาไว้ด้วย
ในการถมดินปริมาณไม่มากนัก การถมโดยคิดเป็นคันรถจะง่ายและมีมาตรฐานกว่าคิดเหมา
ระเบียบราชการกับการถมที่
ในที่นี้คงไม่ได้หมายถึง ข้อบัญญัติในการถมที่ แต่หมายถึงเรื่องราวหมุดหลักเขตที่ดินที่มักจะมีปัญหาเกี่ยวกับการถมที่ เนื่องจากจะถูกดินทรายทับถมลงไป ในทางปฏิบัติเราคงไม่มีอำนาจไปรื้อถอนหลักหมุดขึ้นมา แม้จะเป็นเพียงยกให้สูงขึ้นก็ตาม ดังนั้นเวลาถมที่ควรปักหลักเป็นเครื่องหมายเอาไว้จะดีที่สุด ยกเว้นบางกรณีที่เจ้าของที่เดิมหรือเจ้าพนักงานจากกรมที่ดินจะยกเสาลอย เพื่อวางหมุดให้อยู่สูงจากพื้นดิน ในกรณีที่ที่ดินนั้นๆ เป็นที่ลุ่มมาก เมื่อเทียบกับถนนหน้าที่ดินนั้น หลายๆครั้งเราจะทำแนวกำแพงกันดินหรือรั้วอยู่ภายในแนวหลักเขตคือจะทำเสาตั้งอยู่ชิดกับหมุดแทนที่จะไปคร่อมอยู่บนหมุด ทั้งนี้ก็เพื่อให้เห็นและตรวจสอบหลักหมุดได้ในภายหลัง และในกรณีจำเป็นต้องยกหลักหมุดขึ้นด้วยกรณีใดก็ตาม ต้องแจ้งความจำนงในแบบฟอร์มของกรมที่ดินเป็นลายลักษณ์อักษร ณ ที่ทำการที่ดินในเขตหรืออำเภอนั้นๆ ให้มากระทำการให้
ปัญหาปลีกย่อยของการถมที่ที่ควรทราบ
ในกรณีที่เราถมที่ด้วยทรายสำหรับการปลูกบ้านพักอาศัยนั้น ตอนบนเราควรเผื่อสำหรับถมดินเอาไว้ประมาณ 30-50 ซม. เพื่อสำหรับการปูหญ้า ปลูกต้นไม้ในอนาคต ดินที่ถมในขั้นนี้ควรเป็นหน้าดิน (TOP SOILED) คือดินตอนบนๆของบ่อดินที่ไปนำมา เพราะจะเป็นดินอุดมมีธาตุอาหารอยู่มาก เป็นประโยชน์ต่อการปลูกต้นไม้จัดสวนในภายหลัง สำหรับการปลูกไม้ยืนต้นไม้ผลขนาดใหญ่ ที่ต้องขุดดินลงไปลึกทั้งระบบรากต้นไม้นั้นจะชอนไชลงไปลึกด้วย เราก็สามารถใส่ดินและปุ๋ยลงไปที่ก้นหลุม(ซึ่งเป็นทราย) ได้ ในภายหลังก็ยังให้ปุ๋ยเคมีโรยที่โคนต้นได้ เพราะเมื่อถูกน้ำเมล็ดปุ๋ยจะแตกตัวซึมลงไปเบื้องล่าง ไปยังระบบรากของต้นไม้นั้นๆ
ก็สรุปว่า การถมที่ด้วยทรายสำหรับบ้านพักอาศัยนั้นย่อมมีความเป็นไปได้ต่อการจัดสวนปลูกต้นไม้ จริงๆแล้วกลับดีกว่าดินถมด้วยซ้ำ เพราะดินถมมักจะเป็นดินค่อนข้างเหนียว น้ำซึมผ่านยาก ทำให้น้ำขังอยู่ ระบบรากต้นไม้จะสำลักน้ำและเฉาตายในที่สุด โดยเฉพาะการปลูกไม้ใหญ่ๆ ที่ล้อมตุ้มมาหรือปลูกไม้ประดับใดๆ ที่ไม่ชอบน้ำมาก เช่น เฟื่องฟ้า ปรง แก้ว โกสน
ที่มา : http://www.bestroomstyle.com